วันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การจำแนกเขตภูมิอากาศ


การจำแนกเขตภูมิอากาศ

            การจำแนกประเภทเพื่อแบ่งเขตอากาศของโลกที่ได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ การจำแนกเขตภูมิอากาศของ ดร.วลาดีเมียร์ เคิปเปิน (Dr.Wladimir Köppen) นักพฤกษศาสตร์และภูมิศาสตร์ชาวเยอรมัน ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเกรซ ประเทศออสเตรีย โดยใช้อักษรภาษาอังกฤษเป็นสัญลักษณ์
สัญลักษณ์แทนลักษณะภูมิอากาศของเคิปเปิน
            เคิปเปินใช้อักษร A,B,C,D,E และ H เป็นอักษรตัวแรก เพื่อกำหนดลักษณะภูมิอากาศสำคัญ 6 ประเภท และแบ่งย่อยโดยใช้สัญลักษณ์เป็นอักษรตัวที่  3 และคำอธิบายความหมายของสัญลักษณ์สำคัญบางตัว มีดังนี้
            A =  อุณหภูมิเฉลี่ยทุกเดือนสูงกว่า 18 องศาเซลเซียส ไม่มีฤดูหนาว ปริมาณน้ำฝนสูงกว่าการระเหย
            B =  การระเหยมีมากกว่าความชื้นที่ได้รับ เป็นเขตที่ไม่มีต้นน้ำลำธาร
            C =  อุณหภูมิของเดือนที่หนาวที่สุดต่ำกว่า 18 องศาเซลเซียส แต่ไม่ต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส เป็นเขตที่มีทั้งฤดูร้อนและฤดูหนาว
            D =  อุณหภูมิของเดือนที่หนาวที่สุดต่ำกว่า 3 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนที่ร้อนที่สุดสูงกว่า 10  องศาเซลเซียส
            E =  อุณหภูมิของเดือนที่ร้อนที่สุดต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส  เป็นเขตที่ไม่มีฤดูร้อนเลย
            H =  ภูมิอากาศแบบที่สูง
            a =  เดือนที่ร้อนที่สุดมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่า 22 องศาเซลเซียส
            b =  เดือนที่ร้อนที่สุดมีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่า 22 องศาเซลเซียส
            c =   อุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนที่หนาวที่สุดสูงกว่า -38 องศาเซลเซียส และใน ปี มีเดือนทีมีอุณหภูมิสูงกว่า 10องศาเซลเซียส น้อยกว่า  4 เดือน
            d =   เดือนที่หนาวที่สุดมีอุณหภูมิต่ำกว่า -38  องศาเซลเซียส
            f =   มีฝนตกตลอดทั้งปี ไม่มีฤดูร้อนชัดเจน ปริมาณฝนแต่ละเดือนไม่ต่ำกว่า 60 มิลลิเมตร
            s =   ฤดูร้อนแห้งแล้ง เดือนที่แห้งแล้งที่สุดปริมาณฝนน้อยกว่า  30 มิลลิเมตร
            w =  ฤดูหนาวแห้งแล้ง
            m =  ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม มีปริมาณฝนรวมทั้งปีค่อนข้างสูง แต่ละปีมีฤดู 2 – 3 เดือน  
เขตภูมิอากาศของโลก
            เขตภูมิอากาศของโลกอาจจำแนกเขตภูมิอากาศตามระบบเคิปเปินได้ ดังนี้
            1.  แบบ A  ภูมิอากาศเขตร้อน (Tropical climate) ลักษณะภูมิอากาศแบบนี้ คืออุณหภูมิเฉลี่ยของทุกเดือนจะไม่ต่ำกว่า 64.4 องศาฟาเรนไฮต์ (18 องศาเซลเซียส) มีปริมาณน้ำฝนมากและมีฝนรายปีเกินปริมาณน้ำที่ระเหยขึ้นไป ภูมิอากาศแบบนี้ไม่มีฤดูหนาว ภูมิอากาศแบบ A นี้ยังแบ่งได้อีกเป็น 3 แบบ คือ
1)  ภูมิอากาศแบบป่าดิบชื้น (Af) ลักษณะอากาศชื้นตลอดเวลา มีฝนตกสม่ำเสมอและอุณหภูมิสูงตลอดปี ไม่มีเดือนใดที่ฝนต่ำกว่า 60 มิลลิเมตร
2)  ภูมิอากาศร้อนชื้นแถบมรสุม (Am) มีลักษณะอากาศชื้นแตกต่างกันตามอิทธิพลของลมมรสุม ภูมิอากาศแบบนี้อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุม จึงทำให้มีระยะเวลาที่ฝนตกหนักและฝนตกน้อยตามอิทธิพลของลมมรสุม
3) ภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าสะวันนา (Aw) ลักษณะอากาศชื้นกับแล้งสลับกันชัดเจน มีชื่อเฉพาะว่า สะวันนา (savanna) ภูมิอากาศแบบนี้แตกต่างจากภูมิอากาศแบบชื้นตลอดเวลา เพราะมีน้ำฝนตลอดปีน้อยกว่า จึงทำให้มีทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง
2.   แบบ B  ภูมิอากาศแบบแห้งแล้ง (Dry climate) ลักษณะภูมิอากาศแบบ B คือการระเหยของน้ำจะมีมากกว่าปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา ภูมิอากาศแบบนี้แบ่งได้เป็น แบบ คือ
1) แบบทะเลทราย (BW) อากาศแห้ง ฝนตกน้อย มีปริมาณน้ำฝนตลอดปีต่ำกว่า 250 มิลลิเมตร
2) แบบทุ่งหญ้าสเตปป์ (BS) ลักษณะอากาศเป็นแบบกึ่งแห้งแล้ง มีปริมาณน้ำฝนตลอดปีประมาณ 380 -760 มิลลิเมตร
3. แบบ C ภูมิอากาศแบบอบอุ่นหรืออุณหภูมิปานกลาง (Warm temperate หรือ mesothermal climate)ลักษณะภูมิอากาศแบบนี้ คือ เดือนที่หนาวเย็นที่สุดจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่า 64.4 องศาฟาเรนไฮต์ (18 องศาเซลเซียส) แต่จะไม่ต่ำกว่า 26.6 องศาฟาเรนไฮต์ (-3 องศาเซลเซียส) ภูมิอากาศแบบ C แบ่งได้เป็น 3 แบบ คือ
(1)    แบบกึ่งโซนร้อน (Cw) ลักษณะอากาศชื้น อุณหภูมิปานกลาง มีฝนตกมากในฤดูร้อน ส่วนในฤดูหนาวอากาศแห้งแล้งไม่มีฝนตก
(2) แบบชายฝั่งทะเลตะวันตก (Cf) ภูมิกาศชื้น มีอุณหภูมิปานกลาง สบายในฤดูร้อนและไม่หนาวเกิน ในฤดูหนาว มีฝนตกสม่ำเสมอตลอดปี ปริมาณน้ำฝนมากปานกลาง
(3) แบบเมดิเตอร์เรเนียน (Cs) ภูมิอากาศชื้น อุณหภูมิปานกลาง มีฝนตกในฤดูหนาวแห้งแล้งในฤดูร้อน ปริมาณน้ำฝนประมาณ 375 – 625 มิลลิเมตรต่อปี
4. แบบ D ภูมิอากาศแบบอุณหภูมิต่ำ (Snow หรือ Microthermal climate) ลักษณะภูมิอากาศแบบนี้ คือ เดือนที่หนาวเย็นที่สุดจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่า 26.6 องศาฟาเรนไฮต์ (-3 องศาเซลเซียส) ส่วนอุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนที่ร้อนที่สุดจะสูงกว่า 50 องศาฟาเรนไฮต์(10 องศาเซลเซียส) แบ่งเป็น แบบคือ
1) แบบอุณหภูมิต่ำที่มีความชื้นตลอดปี (Df) มีฝนตกทั้งในฤดูร้อนและฤดูหนาวอากาศชื้นตลอดปี
2) แบบอุณหภูมิต่ำที่มีความแห้งแล้งในฤดูหนาว (Dw) มีฝนตกในฤดูร้อน ส่วนในฤดูหนาวอากาศเย็นและไม่มีฝนตก
5. แบบ E ภูมิอากาศแบบน้ำแข็ง (Ice climate) ลักษณะภูมิอากาศแบบนี้ คือ ไม่มีเดือนใดที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่า 50องศาฟาเรนไฮต์ (10 องศาเซลเซียส) แบ่งเป็น 2 แบบ คือ
1)      แบบทุนดรา (ET) มีฤดูร้อนช่วงเวลาสั้นมาก ฤดูหนาวอากาศหนาวมาก และหนาวนาน มีฝนตกในฤดูร้อนบ้างเป็นครั้งคราว
2)      แบบเขตน้ำแข็งหรือแบบขั้วโลก (EF) อากาศหนาวจัดมีน้ำแข็งปกคลุมตลอดปี

6.  แบบ H  ภูมิอากาศแบบที่สูง (Highland climate) เป็นภูมิอากาศในแนวตั้ง คือ ลักษณะภูมิอากาศที่ปรากฏตั้งแต่ที่ราบไปสู่ที่สูง หรือยอดเขา ภูมิอากาศแบบนี้ทั้งอุณหภูมิ ปริมาณฝน และพืชพรรณธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปตามระดับความสูงของพื้นที่